อบจ.เชียงใหม่ จัดงาน “มนต์เสน่ห์สีสัน วัฒนธรรมชาติพันธุ์เชียงใหม่” ประจำปี 2565 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของจังหวัดเชียงใหม่
อบจ.เชียงใหม่ จัดงาน “มนต์เสน่ห์สีสัน วัฒนธรรมชาติพันธุ์เชียงใหม่” ประจำปี 2565 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของจังหวัดเชียงใหม่—-องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง เครือข่ายวัฒนธรรม ภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดกิจกรรมตามโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาติพันธุ์ เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมเชียงใหม่ WCC ขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญา งานหัตถกรรมของท้องถิ่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ บริเวณหน้าสวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นการจัดงานภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด—–เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการเปิดงาน”มนต์เสน่ห์สีสัน วัฒนธรรมชาติพันธุ์เชียงใหม่” ประจำปี 2565 พร้อมด้วย นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงศ์ และ นายนาวิน สินธุสอาด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ พรอมทั้งร่วมสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตที่ดีงามของกลุ่มชาติพันธุ์ให้คงอยู่สืบไป—–จังหวัดเชียงใหม่ มีทรัพยากรทางภูมิปัญญาที่ถูกสั่งสมองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ที่เสมือนเครื่องมือในการบ่งบอกว่าพื้นที่แห่งนี้มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมมาแต่ช้านาน ซึ่งสะท้อนรูปแบบการอยู่ร่วมกันของประชาชนกลุ่มชนชาติพันธุ์หลากหลาย แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง คือ กะเหรี่ยง (ปกาเกอญอ) ม้ง (แม้ว) ลาหู่ (มูเซอ) ลีซู (ลีซอ) อีก้อ (อาข่า) จีนฮ่อ ปะหล่อง (ดาราอั้ง) ลั๊วะ (ละว้า) เมี่ยน (เย้า) คะฉิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นราบ คือ ไทยวน (คนเมือง) ไทใหญ่ (ไตใหญ่) ไทเขิน ไทลื้อ ไทยอง ซึ่งมีประวัติความเป็นมาคู่กับเมืองเชียงใหม่มาช้านาน จึงได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญยา งานหัตถกรรมของท้องถิ่น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของจังหวัดเชียงใหม่—–โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การประกวดธิดาดอย การแสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ และการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า งานหัตถกรรม ซึ่งถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในการแสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรม และศิลปะพื้นบ้านขององค์การยูเนสโก—–งานดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 14 – 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 – 21.00 น. ณ บริเวณด้านหน้าสวนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (ด้านหลังศาลากลางเชียงใหม่)